วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

Q School ... Thailand 's Today!!

มีแฟนคลับท่านนึงอยากให้เขียนบทความเกี่ยวกับ Q School ว่าเป็นอย่างไร มีที่มาที่ไปและเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Q School

ก่อนอื่นจะต้องย้อนกลับไปในอดีต และให้ตรง
ประเด็นกับ "กีฬาสนุ้กเกอร์" ของประเทศไทย
ในราวปี ค.ศ.1985  ในยุคของวงการสนุ้กเกอร์ ยังอยู่ในคราบเงาของ "แหล่งมั่วสุม ยาเสพติดและการพนัน" รวมทั้งคนในแวดวงยังให้คำนำหน้าชื่อของคนเล่นสนุ้กเกอร์เก่งๆ ว่า "เซียน"

หากย้อนเวลาไปในช่วงนั้น ก็คงไม่มีใครรู้ระบบระเบียบการของการแข่งขัน สนุ้กเกอร์อาชีพโลกกันเลยสักคน  จนกระทั่งอดีตนายกสมาคมสนุ้กเกอร์แห่งประเทศไทยคนแรก ก็คือ คุณมอร์ริส เคอร์  ซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยยาวนาน และท่านก็ชื่นชอบ "กีฬาสนุ้กเกอร์" เป็นอย่างมาก  และด้วยความเป็นคนอังกฤษ  ท่านจึงทราบโควต้าของนักกีฬาที่สามารถไปแข่งขันกับรายการของ WPBSA (ปัจจุบันเป็น WST)

สมัยนั้น ตำแหน่งแชมป์เอเชีย ก็เพียงพอที่จะทำให้นักกีฬาสนุ้กเกอร์จากประเทศไทย ที่สามารถคว้าแชมป์ได้  ได้สิทธิ์ไปแข่งขันใน World Rankings Tour และครั้งนั้นเอง ทำให้ประเทศไทยได้มี นักสนุ้กเกอร์อาชีพคนแรก คือ ศักดิ์ชัย ซิมงาม(ชัย ลำพูน) ที่ได้แข่งขันในเวทีระดับโลกในฤดูกาล 1985/1986  

แต่ทว่า ..ผลงานไม่ดีนัก  ศักดิ์ชัย ซิมงาม(ชัย ลำพูน) ทำอันดับโลกได้เพียงอันดับที่ 88  จนต้องสิ้นสุดเส้นทางบนถนนสายอาชีพ  ด้วยเหตุผลหลักคือ งบค่าใช้จ่าย (สูงลิบลิ่ว)

และในช่วงเวลาเดียวกันนั่นเอง ในช่วงปี ค.ศ.
1985 เป็นปีที่ประเทศไทย ได้เกิดดาวรุ่งพุ่งแรง วัยเพียง 15 ปี วัฒนา ภู่โอบอ้อม (ต๋อง ศิษย์ฉ่อย)ได้เดินทางไปเรียนภาษาอังกฤษ และลงแข่งขันหาประสบการณ์ในทัวร์นาเม้นท์มากมายในประอังกฤษ 

ปี ค.ศ.1985-1987 ฝีมือของดาวรุ่งจากประเทศ ไทย ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก จนได้รับการคาดหมายว่า  วัฒนา ภู่โอบอ้อม (ต๋อง ศิษย์ฉ่อย)มีโอกาสที่จะก้าวเลื่อนชั้นไปเล่นสนุ้กเกอร์ระดับโลกอาชีพ 

และเมื่อถึงเวลานั้นเอง  สมาคมสนุ้กเกอร์แห่ง
ประเทศไทย ในยุคของ คุณมอร์ริส เคอร์ จึงได้ทราบโควต้าที่ชัดเจน ในการเลื่อนชั้นของนักสนุกเกอร์สมัครเล่น ที่นักกีฬาไทย สามารถเลื่อนชั้นหากผ่านเกณฑ์ ซึ่งสมัยนั้นมีเพียง วัฒนา ภู่โอบอ้อม (ต๋อง ศิษย์ฉ่อย) ที่เป็นเพียงความหวังเดียว ที่มีความสามารถและอายุยังน้อย ด้วยวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น!!

โควต้าที่กล่าวมาก็คือ แชมป์เอเชีย , แชมป์โลกสมัครเล่น และ นักกีฬาที่ผ่านการคัดเลือกในรายการ Pro Ticket ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 Events โดยจะต้องมีอันดับ 1-8 จากนักกีฬาที่ลงแข่งขันหลายพันคน(รวมทุก Events)

วัฒนา ภู่โอบอ้อม(ต๋อง ศิษย์ฉ่อย) ได้กลายเป็นนักสนุ้กเกอร์สมัครเล่น คนแรกและคนเดียวของโลก ที่ทำได้ในปี ค.ศ.1988 ที่สามารถคว้าแชมป์เอเชีย , แชมป์โลกสมัครเล่น และ ทำคะแนนได้เป็นอันดับหนึ่ง ของรายการ Pro Ticket 1988 และผลงานทั้งหมด วัฒนา ภู่โอบอ้อม (ต๋อง ศิษย์ฉ่อย) สามารถทำได้ทั้งหมดในปีเดียว(1988) จนได้เลื่อนชั้นไปแข่งขันในระดับโลกอาชีพ โดยเริ่มฤดูกาลแข่งขันแรกในปี 1989/1990


ต่อมาในปี 2011  การแข่งขันรายการ Pro Ticket ได้เปลี่ยนชื่อการแข่งขัน และระบบการคัดสรรนักกีฬาสมัครเล่น รวมทั้งมืออาชีพที่หลุดออกจาก Top64  มาเป็นรายการ Q School และจะมีทั้งหมด 3 Events ภายใต้เงื่อนไขของการคัดเลือกคือ นักกีฬาที่สามารถเข้าถึงรอบ 4 คนSemi final ของทั้ง 3 Events รวมทั้งหมด 12 คน จะได้รับสิทธิ์ลงแข่งขันใน World Rankings Tour 2 ฤดูกาล 


และต่อมา ในราวปี ค.ศ.2015(โดยประมาณ)
ได้เกิดข้อพิพาทระหว่าง WPBSA (WST) กับสมาพันธ์สนุ้กเกอร์โลก IBSF  ซึ่งเกี่ยวพันธ์กับสิทธิ์ประโยชน์และภาพลักษณ์  ตลอดจนผลประโยชน์มากมาย  จนความสัมพันธ์แตกหักในที่สุด ส่งผลให้ WPBSA (WST) ยกเลิกสิทธิ์ในการเลื่อนชั้น สำหรับนักกีฬาสมัครเล่นทั่วโลก ที่สามารถคว้าแชมป์เอเชีย และแชมป์โลกสมัครเล่น  ของสมาพันธ์สนุ้กเกอร์ IBSF ไม่สามารถเลื่อนชั้นไปเล่นในระดับโลกอาชีพได้อีก

โควต้าสุดท้ายที่ นักกีฬาสมัครเล่นทั่วโลก ที่มี
ความต้องการอยากจะลงแข่งขันกับ WPBSA (WST) จะเหลือเพียงช่องทางเดียวคือ รายการ Q School

รายการ Q School เริ่มจัดแข่งขันครั้งแรก ในปีค.ศ.2011 จนถึงปัจจุบัน  จะจัดแข่งขันทุกปี เมื่อจบสิ้นการแข่งขันรายการชิงแชมป์โลกอาชีพ World Championship  ในราวเดือนพฤษภาคม


ดิไอดอล ต๋อง ศิษย์ฉ่อย เคยพูดถึงอุปสรรคและความยากของรายการ Q School ที่รวมเอามือสมัครเล่นเก่งๆ จากทุกมุมโลก พร้อมทั้งบรรดามือโปร ที่ตกชั้น(หลุด Top64)  ซึ่งจะแตกต่างจากในอดีต คือสมัยแรกๆ มืออันดับโลกจะนับจาก Top 128  

เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล มือ Top128 จะมีอันดับรั้งท้าย 8 อันดับ จะต้องมาแข่งขันกับมือ Top8 ของระดับสมัครเล่น ให้ได้แข่งขันแบบ Play off ซึ่งเป็นการให้โอกาสมือโปรครั้งสุดท้าย ซึ่งหากแพ้ก็จึงจะหลุดออกจากทำเนียบ Top 128

แต่ปัจจุบันการตัดมือ ที่หลุดจาก Top64 ก็มีทั้งข้อดี คือ เพิ่มความเข้มข้น และการพัฒนาฝีมือและคุณภาพของนักกีฬาอาชีพจริงๆ ซึ่งต้องเก่งจริง จึงจะอยู่รอดในเส้นทางสายอาชีพ  ข้อเสียก็คือ ค่อนข้างกดดันนักกีฬา โดยเฉพาะการแพ้ในแมทช์แรกที่ไม่ได้คะแนน และเงินรางวัล ซึ่งส่งผลให้นักกีฬาต่างชาติ(นอกเครือจักรภพ) ที่มีปัญหาเรื่อง "ค่าของเงิน" รวมทั้งค่าใช้จ่าย อาทิ
นักกีฬาไทย ต้องมีค่าใช้จ่ายมากเป็นทวีคูณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ มากถึง40 เท่าตัว หรือมากกว่า(เคยสูงสุด 1 ปอนด์ เท่ากับเงินไทย 85 บาท) 

และหากจะนับตั้งแต่การเริ่มต้น Q School มาตั้งแต่ปี 2011  ยังไม่เคยมีนักกีฬาไทยที่ผ่านการคัดเลือกในรายการนี้  นักกีฬาจีนผ่านการแข่งขันคัดเลือก 17 คน และจากมาเลเซีย 1 คน 

ในปี 2016/2017 คือ Thor Chuan Leong จากโควต้านักกีฬาที่ Qualify จากรายการ Q School ทั้งหมด 44 คน และมีหลายคนที่ต้องแข่งคัดเลือก แล้วตกชั้นต้องมาคัดเลือกใหม่ อย่างเช่น Tian Pengfei , Lei Peifan  รวมทั้ง Asia Snooker Superstar คนล่าสุด Zhao Xintongที่ผ่านการแข่งขันคัดเลือก Q School ในฤดูกาล 2018/2019

และในช่วง Talk of the town ในยุคของ นายกสุนทร จารุมนต์ นายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยส่งนักกีฬาสมัครเล่น  ให้ร่วมลงแข่งขันคัดเลือกในรายการ Q School  สักครั้ง!!


แต่ในวงการกีฬาสนุ้กเกอร์ไทย  ยังได้ทาง สโมสร S1 Signature Snooker Club โดยคุณเอส ไชยพงศ์ กวรสุรมย์ ร่วมกับ สโมสร Q house ,Darlington UK จัดการแข่งขันคัดเลือก และส่งแชมป์คือ กฤษนัส  เลิศสัตยาทร(นุ๊ค สงขลา)และรองแชมป์ชัชพงศ์ นาสา(ติม เมืองกาญจน์)ไปร่วมลงแข่งขันคัดเลือก ในรายการ Q School 2022 ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.2022

และทางสโมสร S1 Signature Snooker Club
จะส่ง ณัทณพงศ์ ชัยกุล (ไบร์ท ศรีราชา) ให้ไปร่วมแข่งขันคัดเลือกในรายการ Q School อีกคนเช่นกัน    นอกจากนี้ยังมี วิภู ภูธิศาบดี (บอย) ที่ให้การสนับสนุนโดยคุณแม่ของน้องบอย ให้ไปร่วมแข่งขัน Q School 2022 อีกหนึ่งคน 
นับได้ว่า โควต้าสุดท้าย ในการเลื่อนชั้นไปแข่งขันในระดับโลกอาชีพ ปี 2022  นักกีฬาไทยในนามของเอกชน  ที่ไม่มีสมาคมฯ และภาครัฐ ให้การสนับสนุนแต่อย่างใด..

แต่แฟนคลับชาวสนุ้กเกอร์ของไทยได้ลุ้นกัน  3 คน คือ นุ๊ค สงขลา ,ติม เมืองกาญจน์ และ ไบรท์ ศรีราชา  ยังไม่รวมนักกีฬาไทยที่อยู่ในอังกฤษ คือ ควิด คิวส์เฮ้าส์ที่ลงแข่ง Q School มาก่อนหน้า 2-3 ปี ให้แฟนๆได้ติดตามเชียร์กันในปีนี้ 

ถึงวันนี้ Q School ทั้ง 3 Events ยังคงเป็นเพียงช่องทางและโอกาสเดียว สำหรับนักสนุ้กเกอร์สมัครเล่นทั่วโลก ที่อยากเป็นนักสนุ้กเกอร์อาชีพ

และทั้งหมดยังคงอยู่ในปัญหาพื้นฐาน ที่สำคัญที่สุด คือ งบค่าใช้จ่าย ซึ่งหากสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ควรจะเร่งทำ(ซึ่งควรทำมานานแล้ว)โครงการส่งเสริมนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศ จัดงบประมาณ จัดส่งนักกีฬาไทยดาวรุ่งเก่งๆ ให้การสนับสนุนตั้งแต่แรกเริ่ม ร่วมทั้งภาครัฐ ที่ควรจะยื่นมือมาสนับสนุนตั้งแต่แรกเริ่มเช่นกันฝากไว้ให้ท่านๆ ได้ คิด , วิเคราะห์ , แยกแยะ ถึง
คุณประโยชน์ของ "กีฬาสนุ้กเกอร์" ที่สามารถ
สร้างชื่อเสียง เกียรติยศ ให้กับประเทศชาติ 


และควันหลงจากวานนี้ ที่ ณัชชารัตน์ วงศ์หฤทัย(น้องมิ้งค์ สระบุรี) ไปเข้าพบ นายกประยุทธ์จันทร์โอชา  โดยมีนายกสุนทร จารุมนต์ นายก สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศ
ไทย ไปพร้อมด้วย  มีการเผยแผ่ทางสื่อครบทุกแขนง แต่สิ่งที่ปรากฏจากการโพสต์ความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชน   90% ต่างก็ตัดพ้อท่านนายกทั้งสองว่ามาแสดงความยินดี ในเชิงสร้างภาพ แสวงหาประโยชน์แอบแฝง ฯลฯ  ซึ่งไม่ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา  คือ ผู้ใหญ่ในอดีตก็ไม่ช่วยเหลือ ไม่สนับสนุน 

แต่พอนักกีฬาประสบความสำเร็จ ..การเกาะกระแส การโหนกระแส มาถ่ายรูป ทำข่าวเอาหน้า สร้างภาพ ก็มาทำกันเหมือนเดิม นั่นก็ทำให้สังคมก็ตำหนิติเตียน ตามความเป็นจริง 
กับภาพที่ได้เห็น

เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว  ผู้ใหญ่ยุคใหม่ 2022 ก็น่า
จะเปลี่ยนวิธีคิดและการปฏิบัติจากในอดีต หัน
มาสนับสนุน ส่งเสริม ทำให้จริงๆ อย่างจริงจัง
ถ้าท่านทำได้  อีกหน่อยในอนาคต เวลาที่สื่อมวลชนมาทำภาพ ทำข่าว ก็จะมีแต่ผู้คนแซ่ซ้องสรรเสริญ  ไม่ถูกตำหนิ ถูกว่า ถูกด่า เหมือนกับทุกวันนี้ 

เอารายการ Q School ใกล้ๆ ตัวก่อนเลย เหลืออีก 3-4 เดือน หากทำจริงๆ ยังไงมันก็ทำทัน ถ้าท่านทำส่งเด็กไทยไปแข่งอีกสัก 5-6 คน  ถ้าท่านทำได้ก็คงได้ใจคนไทยไม่น้อยจริงๆ 

ถ้าท่านพูด แต่ท่านไม่ทำ .. หรือทำไม่ได้
ไม่ดูไม่ดีเลยจริงๆ 

บทความ : เพจ I AM TUM Sidchoi



         🙏สนับสนุนโพสต์โดย🙏
#AmazingThailand  #SabiangStation #เสบียงสเตชั่น #การกีฬาแห่งประเทศไทย 
#การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 
#DrAirเครื่องบำบัดอากาศสำหรับคุณ
#LamaiJazzBarAndBristoขอนแก่น
#BAACศูนย์การแพทย์ชะลอวัยและความงาม
#NicheCuesChantaburi #TheSunSnookerCues
#Usnooker #Usport.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น