วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

Q School & Snooker's Thailand

การแข่งขันในรายการ Asia Ocenia Q-School2022 in Bangkok-Thailand  จะเริ่มต้นระหว่างวันที่ 1-12 มิถุนายน 65 ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันร่วมกันระหว่าง สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ร่วมกับ WST World Snooker Tour หรือในชื่อเดิมคือ WPBSA World Professional Billiard & Snooker Association โดยมีจุดประสงค์ที่จะใช้ประเทศในโซนเอเซียเป็นฐานในการสร้างนักสนุ้กเกอร์สมัครเล่น ให้ก้าวไปสู่การเล่นในระดับโลกอาชีพ  โดยประเดิมการจัดการแข่งขันครั้งแรกในประเทศไทย

ในส่วนของการประชาสัมพันธ์ที่ทางสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ได้ลงประชาสัมพันธ์ครั้งแรก  ในวันที่ 4 เมษายน 2565 ผ่านทางเพจของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่าน Content ของ WST จนมาถึงวันที่ปิดรับสมัคร วันที่ 16 พฤษภาคม 2565  ปรากฏว่ามีนักกีฬาสมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 70 ผุ้เล่น จาก 12 ประเทศในโซนเอเซีย  โดยเป็นนักกีฬาไทยจำนวน 24 คน  และนักกีฬาต่างชาติจำนวน 46 คน  โดยนักกีฬาไทยที่ได้รับสิทธิ์ให้ลงแข่งโดยการสนับสนนเงินค่าสมัครจำนวน 400 ปอนด์ จำนวน 17 คน ที่เหลืออีก 7 คน เป็นนักกีฬาไทยที่จ่ายค่าสมัครด้วยตนเอง หรือมีผู้สนับสนุนค่าสมัครแข่งขัน

การจัดการแข่งขัน Asia Ocenia Q-School 2022 in Bangkok-Thailand ที่เก็บค่าสมัครเพียง 400 ปอนด์ และนักกีฬาสามารถลงแข่งขันได้ถึง 2 Events โดยนักกีฬาที่สามารถเข้าถึงรอชิงชนะเลิศ ทั้ง 2 Events จะได้สิทธิ์ในการเลื่อนชั้นไปเล่นในระดับโลกอาชีพ ใน ฤดูกาล 2022/2023 และ 2023-2024  จำนวน 4 โควต้า  ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางและโอกาสที่ดีของนักกีฬาไทยและต่างชาติที่มีภูมิลำเนาอยู่ในโซนเอเซีย  โดยเฉพาะความสำคัญในเรื่องของ “ค่าใช้จ่าย” และ “การเดินทาง” หากนักกีฬาที่สมัครแข่งขันมาร่วมแข่งขันที่ กรุงเทพมหานคร  ก็จะได้ประหยัดทั้งค่าสมัคร  ที่ถูกกว่า (ที่อังกฤษ ในรายการ Q School นักกีฬาจะต้องเสียค่าสมัครคนละ 1,000 ปอนด์ ได้สิทธิ์แข่งขัน Q School จำนวน 3 Events) และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าโรงแรมที่พัก ค่าฟิตซ้อม ซึ่งในกรุงเทพมหานคร  มีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าที่นักกีฬาจะเดินทางไปแข่งขันที่ อังกฤษ (Ponds Forge International Sports Centre เมือง Sheffield ประเทศอังกฤษ)
ข้อดีมากมายสำหรับ นักสนุ้กเกอร์สมัครเล่นทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างชาติ กับช่องทางและโอกาสสุดพิเศษ 

แต่ทำไมกลับมีผลลัพธ์ของ ผู้สมัครเข้าแข่งขันเพียง 70 คนเท่านั้น และเป็นนักกีฬาต่างชาติเพียง 46 คน ส่วนนักกีฬาไทยที่มีเพียง 24 คน และก็ยังเป็นโควตาที่ได้รับการสนับสนุนค่าสมัครแข่งขันเกือบ 20 คน   


ในกรณีนี้ผู้สันทัดกรณีหลายท่าน ที่ได้ติดตามข่าวสารการประชาสัมพันธ์ การแข่งขัน Asia Ocenia Q-School 2022 in Bangkok-Thailand ต่างก็เห็นพ้องมองเป็นจุดเดียวกันที่เป็นความผิดพลาด  นั่นคือ “การประชาสัมพันธ์”  ซึ่งหน้าที่ของผู้จัดการแข่งขัน คือ สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบการจัดการแข่งขัน   ซึ่งหากเปรียบเทียบจำนวนนักกีฬา  ที่เดินทางไปแข่งขัน Q School 2022 ทั้ง 3 Events ที่ประเทศอังกฤษ ที่ต้องจ่ายค่าสมัคร 1,000 ปอนด์  ค่าใช้จ่ายสูงกว่า  แต่กลับมีนักกีฬาสมัครเข้าแข่งขันถึง 190 คน  มากกว่า Asia Ocenia Q-School 2022 in Bangkok-Thailand เกือบสามเท่า!!
ในวันแถลงข่าวที่ นายสุนทร จารุมนต์ นายกสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย  ได้กล่าวถึงการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ว่าในอนาคตต่อไป “ประเทศไทย จะได้เป็นเจ้าภาพผู้จัดการแข่งขัน Asia Ocenia Q-School ไปตลอดอีกหลายปี และประเทศไทยเราจะเป็นศูนย์กลางในการผลิตนักสนุ้กเกอร์สมัครเล่นหน้าใหม่ ให้ได้เลื่อนชั้นไปเล่นระดับโลกอาชีพ”   สิ่งที่ท่านนายกได้แถลงข่าวผ่านสื่อจำนวนมาก  นับเป็นเจตนารมย์ที่ดี  พร้อมความตั้งใจที่ดี   เพียงแต่ผลลัพธ์ที่คาดหวังว่า น่าจะมีนักกีฬาในโซนเอเซียมาร่วมสมัครแข่งขันเป็นจำนวนมาก   ก็ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง   จุดอ่อนสำหรับรายการนี้ก็แค่เรื่อง “การประชาสัมพันธ์”  ที่เกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง คือวันแถลงข่าวจัดการแข่งขันและเปิดรับสมัคร  กับวันปิดรับสมัครและการจับฉลากประกบคู่  ที่เหลือนอกจากนี้ สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย  แทบจะไม่มีการประชาสัมพันธ์ โปรโมท การแข่งขันรายการ Asia Ocenia Q-School2022 in Bangkok-Thailand อีกเลย

ข้อมูลส่วนนี้  ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับ สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย  ที่จะได้นำไปพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข เพื่อให้ประเทศไทย ได้รับสิทธิ์และได้รับเกียรติ์ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันรายการนี้ต่อไปในอนาคต
มาย้อนปูมหลังกัน  สำหรับสิทธิ์ในการเลื่อนชั้นไปเล่นในระดับโลกอาชีพ  ในอดีตความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองสมาคมระดับโลกคือ IBSF หรือ International Billiard and Snooker Federation  ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโดฮา ประเทศการ์ต้า  และมีการจัดการแข่งขันกีฬา Cuesports ตามรายการดังต่อไปนี้
- IBSF World Snooker Championships
- IBSF World 6Red Championships
- IBSF World Team Snooker Championships
- IBSF World Under-18 Snooker Championship
- IBSF World Under-21 Snooker Championships 
- IBSF World Women Snooker Championships
- IBSF World Masters Snooker Championships
- IBSF World Billiards Championships

กับทาง WPBSA หรือ World Professional Billiard and Snooker Association ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น WST หรือ World Snooker Tour ซึ่งการแข่งขันหลักๆ ก็จะเป็นการแข่งขันสะสมคะแนนสนุ้กเกอร์อาชีพ และยังมีการแตกแขนงออกไปจัดทัวร์นาเม้นท์อื่นๆ เช่น WWS  World Woman Snooker  / World Senior Snooker รวมทั้งการแข่งขันในระดับเยาวชนรุ่นต่างๆ ที่มีจัดการแข่งขันมากมายในประเทศที่อยู่เครือจักรภพ หรือ
United Kingdom 
แต่เดิมนักกีฬาในโซนเอเชียและประเทศอื่นๆ ที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในรายการ IBSF ASIA Snooker Championship หรือ IBSF Wolrd Amatuer Snooker Championship  สำหรับแชมป์ในสองรายการนี้ จะได้สิทธิ์เลื่อนชั้นไปแข่งขันในระดับโลกอาชีพทันที  และพอย้อนมาดูความสามารถของนักกีฬาไทย ที่สามารถคว้าแชมป์เอเชีย และแชมป์โลกสมัครเล่นนับตั้งแต่ยุคของ วัฒนา  ภู่โอบอ้อม(ต๋อง ศิษย์ฉ่อย) ที่คว้าแชมป์โลกสมัครเล่น1988  หรือ อุดร ไข่มุก(ดร  เมืองชล)ที่คว้าแชมป์เอเซีย1987  และจากนั้นมามีนักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์ทั้งสองรายการ จนได้เลื่อนชั้นไปเล่นในระดับโลกอาชีพหลายต่อหลายคน
แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง  ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง IBSF และ WPBSA ได้เกิดรอยร้าวจากเหตุผลส่วนตัวของทั้งสองสมาคมและสมาพันธ์ระดับโลก  ทำให้ WPBSA หรือ WST ไม่ให้สิทธิ์กับแชมป์เอเชียและแชมป์โลกสมัครเล่น ได้เลื่อนชั้นไปร่วมแข่งขันในทัวร์เม้นท์ระดับโลกเหมือนเดิมอีกต่อไป   เหลือเพียงโควตาเดียวสำหรับนักสนุ้กเกอร์สมัครเล่นจากประเทศไทยและโซนเอเซีย รวมทั้งนานาประเทศที่มีนักกีฬาสนุ้กเกอร์ที่มีฝีมือ  นั่นคือการแข่งขันนรายการ Q School ซึ่งจะมีการจัดแข่งขันทุกปี  หลังจากจบศึกชิงแชมป์โลก ที่ Crucible Theater เมือง Sheffield ประเทศอังกฤษ  ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี (ยกเว้นในช่วงโควิด19 จะมีในปี 2019-2021 ที่กำหนดการแข่งขัน จะเลื่อนจากกำหนดการปกติ) และในโควต้าของ Q School นี่เอง   จะมีการแข่งทั้งสิ้น 3 Events โดยนักกีฬาที่สามารถเข้าถึงรอบ Semi final ในแต่ละรายการจะได้เลื่อนชั้นไปเล่นใน World Ranking Tour 2 ฤดูกาลทันที รวมเป็น 12 ผู้เล่นที่ได้สิทธิ์นั้น!!
ย้อนกลับมาที่สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย  ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารจัดการสมาคมเช่นกัน  ในช่วงเดือนเมษายน 2019 (พ.ศ.2562) ก็ถึงช่วงเวลาของการสิ้นสุดวาระการบริหารงานของสมาคมฯ ในยุคของ นายสินธุ  พูนสิริวงศ์ อดีตนายกสมาคม และคณะกรรมการในชุดนั้น   มีการแถลงข่างชี้แจงงบดุลและวาระการประชุม  พร้อมทั้งการลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้แต่งตั้ง นายสุนทร  จารุมนต์ เข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมคนต่อไป  นันตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 (พ.ศ.2562) จนถึงปัจจุบัน 2022
(พ.ศ.2565)

ในรอบบริหารงานของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย  ในยุคของ นายสุนทร  จารุมนต์ นายกสมาคม  กลับไม่เคยส่งนักกีฬาสัญชาติไทยไปร่วมแข่งขัน Q School ตลอดระยะเวลา 4 ปีของการบริหาร  เป็นคำถามที่ยังคาใจของผู้คนในแวดวงกีฬาสนุ้กเกอร์  ในขณะที่ทัวร์ระดับโลก  ประเทศไทยเหลือมืออาชีพเพียง 3 คน คือ นพพล แสงคำ(หมู  ปากน้ำ), เทพไชยา อุ่นหนู (เอฟ นครนายก) และ อรรคนิธิ ส่งเสริมสวัสดิ์(ซันนี่ อัคนิ) ที่พลาดท่าหลุดออกจาก Top64 เมื่อจบฤดูกาล 2021/2022

และนั่นก็หมายถึงประเทศไทย  ไม่ได้มีการส่งเสริมนักกีฬาสนุ้กเกอร์ ให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ หรือความสูงสุดของกีฬาสนุ้กเกอร์  นั่นคือ “การได้เป็นนักกีฬาอาชีพระดับโลก”  คำถามคาใจที่ว่า  “ทำไมถึงไม่ส่งนักกีฬาไทยไปร่วมแข่งขัน?”มีสื่อที่นำเสนอเรื่องดังกล่าวเช่น เพจดัง Tong Snooker Club  ตั้งคำถามไปยังสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทยทุกปีเกี่ยวกับเรื่องนี้  แต่สังคมก็ไม่เคยได้รับคำตอบ  และก็เงียบหายไปเหมือนไฟไหม้ฟางที่ต้องดับมอดลงตามเงื่อนไขของเวลา

จนมาในช่วงที่การบริหารงานของ สมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ชุดปัจจุบัน  ซึ่งครบวาระการบริหารงาน 4 ปี แต่มีเหตุจะต้องเลื่อนการ จัดการเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่พร้อมคณะกรรมการบริหารงานสมาคมออกไปราว 2 เดือน(มิถุนายน 2565) เนื่องจากมีการลาออกของกรรมการสมาคม และการเพิ่มชื่อกรรมการสมาคมคนใหม่  ทำให้การรับรองจากต้นสัฃงกัด คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย  จะต้องเลื่อนออกไปตามขอบเขตของกฎหมายและข้อบังคับ   

เรื่องนี้ก็คงต้องยกยอดให้เป็นนโยบายใหม่ ที่การเลือกตั้งนายกสมาคมและคณะกรรมการ คนใหม่ ชุดใหม่  ซึ่งอาจจะเป็นชุดเดิมหรือชุดไหนก็ตาม ที่จะต้องเร่งผลักดันในการสนับสนุน ส่งเสริม ให้นักกีฬาไทยได้ไปร่วมลงแข่งขันคัดเลือก Q School ในปีต่อๆ ไป

และคำถามก็ต้องตามมาว่า  นี่ไง Asia Ocenia Q School in Bangkok  ทางสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ก็จัดขึ้นแล้วไง  (จะเอาอย่างไรกันอีก)   

          การแข่งขันนี้ .. ไม่ตอบโจทย์!?!

ก็ต้องมาดูประโยชน์ของการจัดการแข่งขัน ว่าเกิดขึ้นกับนักกีฬาไทยมากน้อยแค่ไหน ที่จัดขึ้นประโยชน์เกิดขึ้นรวมกับนักกีฬาในโซนเอเซียทั้งหมด  ก็คงไม่ตรงตามจุดประสงค์ที่จะพัฒนานักกีฬาไทยโดยตรง และยังมีในเรื่องของ “การสนับสนุน”  หากนักกีฬาไทยที่สามารถเลื่อนชั้นไปเล่นอาชีพ  แล้วจะเอาเงินทุนที่ไหนไปใช้จ่ายกับค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่วในประเทศอังกฤษ
ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนด หรือตัวบทกฎหมายในการรองรับ  สำหรับการสนับสนุน นักกีฬาอาชีพ  แต่ความเป็นจริงตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา  ทุกคนก็ทราบกันดีว่า  นักกีฬาสนุ้กเกอร์อาชีพไทย  มีผู้ให้การสนับสนุนน้อยมาก ขนาดมือที่มีอันดับโลกสูงๆ  ยังต้องวิ่งหาผู้สนับสนุนกับเป็นตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน็อต  นั่นก็เลยตอบโจทย์ของ “ผู้สนับสนุน” ได้ทันที ยิ่งถ้าเป็นนักสนุ้กเกอร์มือใหม่ หน้าใหม่  ต่อให้เก่งจริงๆ แต่ก็คงจะไม่ง่ายที่จะหา “ผู้ให้
การสนับสนุน”  อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหลักๆ  ที่ทางสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย ชุดต่อไป  จะต้องนำไปพิจารณา  หากคิดว่าจะสนับสนุนนักกีฬาสนุ้กเกอร์อาชีพอย่างเป็นรูปธรรม  


ผ่านมา 4 ปีของคณะกรรมการบริหารชุดก่อน  ก็ปล่อยให้ผ่านไป  แต่คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่(ซึ่งอาจจะเป็นชุดเก่าก็ได้)  ก็ต้องทำตามเจตนารมณ์ของ ผู้ให้การสนับสนุนหลักของสมาคม นั่นก็คือ การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่มีสโลแกนชัดเจนคือ “การพัฒนานักกีฬาให้สู่ความเป็นเลิศ”  และหากทำได้  นั่นล่ะคือโอกาสและช่องทางที่จะนำ ประเทศไทยกลับมาสู่ความเป็นหนึ่งของ “กีฬาสนุ้กเกอร์”  ขอฝากเอาไว้ถึงท่านๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ในบทความนี้

คราวนี้กลับมาดูโอกาสของนักกีฬาไทยใน Aisa Ocenia Q-School 2022 in Bangkok-Thailand  จะเริ่มแข่งในวันที่ 1-12 มิถุนายน 2565 ณ สโมสรราชกรีฑา(สนามม้าฝรั่ง) ถนนอังรีดูนังต์   ที่จะใช้เป็นสังเวียนประลองฝีมือของ 70 ผู้เล่นที่ลงสมัครแข่งขันในครั้งนี้  

ลำดับที่1 Pasin Puoborm (ตั้ม ศิษย์ฉ่อย)    ลำดับที่2 Wiphu Phuthisabodi (บอย วิภู)
ลำดับที่8 Dechawat Poomjaeng (แจ็ค สระบุรี) ลำดับที่15 Anekthana Sangnil (แซ็ค โซโฟน)
ลำดับที่17 Jongrak Boonrod (ไผ่ สากล)  ลำดับที่18 Thitipong Choolasak (นัท เอสอาร์ สระบุรี)
ลำดับที่19 Narongdat Takantong (โฟน อุบลฯ) ลำดับที่20 Putthakarn Kimsuk (พุฒิ  รังสิต)
ลำดับที่21 Thaweesap Kongkitchertchoo (โตโต้ ศิษย์ตุ้ม) ลำดับที่22 Thanaphon Bunplot(บอล สุรินทร์)
ลำดับที่23 Pantakan Kanwiang(ดรีม ขอนแก่น) ลำดับที่24 Rachata Khantee(เหนือ  บางแสน)
ลำดับที่25 Kritsanut Lertsattayathorn(นุ๊ค สงขลา) ลำดับที่26 Thanawat Tirapongpaiboon(แมน นครปฐม)
ลำดับที่28 Tawan Pooltong(โย่ จันท์)    ลำดับที่29 Pornpiya Kaosumran(แบ็งค์ โซโห)
ลำดับที่30 Yanawarut Phuekklom(โฟน นครสวรรค์) ลำดับที่31 Rattanachai Tupadilok (ฟิว นครนายก)
ลำดับที่33 Teerawat Srikaithai( .... ) ลำดับที่34 Nutdanai Manawm(โฟกัส โคราช)
ลำดับที่35 Anukkhaporn Kidsamran(ดิว จันท์)  ลำดับที่36 Chayanon Thiansuk (ริว นครสวรรค์)
ลำดับที่65 Poramin Danjrikul (นุ๊ค คอนหวัน) ลำดับที่70 Pongsakron Chonggjairak(ท๊อป จันท์)

จากนักกีฬาไทย 24 คน ที่พอจะมีลุ้นแบบหวังผลได้ราว 5 คน ก็ได้แก่อดีตโปรเก่า ทั้ง แจ็ค สระบุรี,นุ๊ค  สงขลา , แมน นครปฐม และอีกสองมือชั้นนำของไทยคือ นุ๊ค คอนหวัน และท๊อป จันท์   ส่วนดาวรุ่งหลายคนก็พอมีลุ้นสอดแทรก ทว่าสอง Events ที่จับฉลากประกบคู่กันไป  นักกีฬาหลายคนต้องเจอกันเองก่อนในแมทช์แรก  ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย  ก็ต้องมาลุ้นกันว่า 24 นักสนุ้กเกอร์ของไทย  ใครจะเป็นคนที่ทำสำเร็จ

ลองมาดูรายชื่อนักกีฬาต่างชาติ  ที่เล่นอาชีพและเพิ่งหล่นชั้นมาจากจีน Lua Hanghao คนนี้ก็เคยซ้อมกับ ดิไอดอล ต๋อง ศิษย์ฉ่อย  มาคราวนี้ก็เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่มีลุ้นคว้าตั๋วกลับไปเล่นอาชีพ   Jeffrey Roda จากฟิลิปปินส์ คนนี้ก็ไม่เบา ฉายแววล่าสุดจากกีฬาซีเกมส์ครั้งล่าสุด  เป็นอีกคนที่น่ากลัว  และนักกีฬายกชุดมาจากมาเลเซีย ไม่ว่าจะเป็นโปรเก่า อย่าง Chuan Leong Thor รวมทั้งมือท๊อปๆ ไม่ว่าจะเป็น Moh Keen Hoo , Lim Kok Leong , Loh Chung Leong ต่างก็มาแข่งกันพร้อมความหวังเต็มเปี่ยม Hamza Akbar มือชั้นนำของปากีสถานพร้อมสมาชิกที่มาร่วมแข่งนับสิบ ต่างก็มีลุ้นกันทุกคน  เรียกว่า Asia Ocenia Q-School2022 in Bangkok-Thailand ในปีนี้   ต้องลุ้นกันถึงเฮือกสุดท้าย

ผู้อ่านสามารถคลิกดูรายละเอียดของการแข่งขัน วันเวลาแข่งของแต่ละคู่ และเส้นทางของนักกีฬาจากตารางก้างปลาด้านล่าง   
                                      
https://wst.tv/asia-oceania-q-school-draw-and-format/

ก่อนปิดท้ายบทความ  ยังมีคำถามและข้อสงสัย  สำหรับการแข่งขันในรายการ Asia Ocenia Q-School 2022 ครั้งนี้ว่าถ้าเกิดนักกีฬาไทยทำสำเร็จ   แล้วจะเอาเงินทุนที่ไหน? สำหรับไปแข่งขันใน World Ranking Tour 2022/2023 และ 2023/2024   

ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่ของสมาคมกีฬาบิลเลียดแห่งประเทศไทย   แต่ก็น่าจะเป็น “ธุระ” ให้นักกีฬามิใช่หรือ เพราะยังไงก็ยังเป็นหัวใจหลักของ “การสนับสนุนนักกีฬาให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ”  เวลายังพอมี  น่าจะติดต่อประสานงานกับเจ้าของกิจการ บริษัทใหญ่ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน  “หาทุนสำรอง” ไว้รองรับ  หากนักกีฬาไทยทำได้ 

เพราะหากนักกีฬาไทยทำได้ขึ้นมา  แต่ไม่มีทุนไปแข่ง  และต้องยกเลิกสิทธิ์ไป  นัยว่าทาง WST World Snooker Tour อาจจะมีการปรับเงินนักกีฬาที่ได้สิทธิ์แต่ไม่ได้ไปแข่งด้วย 

ก็รวบรวมเรื่องราว เนื้อหาและความเป็นไป  ของหนทางและเส้นทางพร้อมกับอุปสรรคมานำเสนอตามความเป็นจริง เพื่อให้วงการ “กีฬาสนุ้กเกอร์ไทย” ได้มีโอกาสกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ อย่างที่ประเทศไทยเคยเป็นหนึ่งในอดีตมาตลอดและทุกคนก็อยากให้ทวงความสำเร็จนั้นกลับคืนมาให้ได้  อย่างใจจดใจจ่อ 


บทความโดย : เพจ I AM TUM Sidchoi


                  🙏สนับสนุนโพสต์โดย🙏 
#การกีฬาแห่งประเทศไทย 
#การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 
#AmazingThailand
#TATSookerClubกีฬาและสันทนาการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
#DrAirเครื่องบำบัดอากาศสำหรับคุณ
#LamaiJazzBarAndBristoขอนแก่น
#BAACศูนย์การแพทย์ชะลอวัยและความงาม
#NicheCuesChantaburi
#มูลนิธิกองทุนพัฒนาการกีฬา
#Usnooker
#Usports

กดติดตามเพจใหม่ของ Tong Snooker club
เปิดเพจใหม่เป็น Tong Snooker club #2
(เพจสำรองสำหรับแฟนคลับ เผื่อฉุกเฉินครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น